โรงเรียนอาชีวะกับสังคมไทยในปัจจุบัน

            การศึกษาระดับอาชีวะเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาไทยที่มีบทบาทต่อสังคมมากในระดับหนึ่ง ซึ่งการศึกษาในระดับนี้ประกอบด้วยโรงเรียนหลายประเภท เช่น สายพาณิชย์ สายช่างอุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาในระดับนี้นักเรียนที่จบมัธยม ศึกษาตอนต้นสามารถเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือหากจบการ ศึกษาในมัธยมศึกษาตอนปลายก็สามารถเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้น สูง(ปวส.)ได้เช่นกัน ปัจจุบันข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่วิทยาลัยเทคโลยีดอนบอสโก เป็นโรงเรียนประเภทช่างอุตสาหกรรม จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าทำงานนั้นทำให้ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับคนในชุมชนใกล้เคียง ผู้ปกครอง เพื่อนครู นักเรียน นักศึกษา และพบว่าหนึ่งปัญหาที่พบเจอในระบบการศึกษาประเภทช่างอุตสาหกรรม คือ เรื่องราวของการทะเลาะวิวาทวัยรุ่นอาชีวะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่พบเจอเหล่านี้และยังมีปัญหาอื่นอีกมากมายที่สังคมต้องร่วมมือกัน

            ปัญหาการทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นอาชีวะนั้นถือว่าเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อสังคมอย่างมาก จนทำให้ผู้คนที่เดินทางผ่านโรงเรียนเหล่านี้มีความหวาดระแวง เนื่องจากสื่อที่ลงข่าวเป็นหนึ่งปัจจัยหนึ่ง จากปัญหาที่มีนั้น ทำให้ข้าพเจ้าสังเกตว่านักเรียน นักศึกษาที่มาสมัครเรียนในแต่ละปีค่อนข้างน้อยลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการสองถามในแต่ละโรงเรียนที่เป็นประเภทช่างอุตสาหกรรมด้วยกันหรือแม้แต่การโทรมาสอบถาม ผู้ปกครองแต่ละท่านมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้ามีความคิดเห็นส่วนตัวว่า อยากให้องค์กรแต่ละหน่วยร่วมมือกัน เพื่อสร้างแนวป้องกัน ปัญหาเหล่านี้อาจจะลดลงและสามารถปรับทัศนคติที่มีต่อคนในสังคมได้ เช่น การทำโครงการร่วมมือระหว่างทหารและตำรวจ ยกตัวอย่างเช่น 1.ในทุกๆวันหลังเลิกเรียนอยากให้มีครูและตำรวจคอยตรวจเวรตามบริเวณป้ายรถเมล์ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น 2.จัดโครงการร่วมระหว่างทหารคือ มีการเข้าค่ายเยาวชนประมาณ 3-5วัน เพราะบางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้นักเรียนเรียน รักษาดินแดง การเข้าค่ายนี้จะมีผลดีคือ ทำให้นักเรียน นักศึกษา รู้จักระเบียบวินัยและปลูกฝังการรักชาติมากขึ้น รู้ถึงความอดทน การช่วยเหลือผู้คนในสังคมและอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดกิจกรรม คือ การนำศาสนาไปสอดแทรกระหว่างการจัดกิจกรรม จากที่ข้าพเจ้าพบเจอมา คือในบางปีมีการเข้าค่ายเยาวชนเช่นนี้ แต่นักเรียนไม่สามารถไปได้ทั้งโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าอยากให้นักเรียนที่ขึ้นระดับ ปวช.1 ได้ผ่านการเข้าค่ายนี้ทุกคน เพื่อที่จะได้รับการฝึกและอบรม ซึ่งในความคิดเห็นของข้าพเจ้าที่ได้นำเสนอไปนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในประเทศไทยมีน้อยโรงเรียนที่มีปัญหาเหล่านี้ แต่เนื่องด้วยในยุคนี้มีการกระจายข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากในสังคม

ส่วนใหญ่ผู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวะนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 15-20 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกจึงไม่ทราบถึงปัญหาที่ลูกมี ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมติดเพื่อนมากกว่าและเมื่อได้รับแรงยั่วยุในทางไม่ดี จึงมีปัญหาตามมา แนวทางป้องกันที่สามารถช่วยเหลือกันได้ เริ่มได้ที่ในสถานศึกษาโดยการปรับทัศนคติให้กับนักเรียน นักศึกษาคือ อาจจะเริ่มจาก 1.การสร้างแรงจูงใจ แรงจูงใจถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นมีเป้าหมาย เช่นจัดกิจกรรมแนะแนวจากศิษย์เก่าโดยเชิญศิษย์เก่ารุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ มาแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต

2.เปลี่ยนแปลงระเบียบในการแต่งตัว เพื่อลดความเสี่ยง เช่น ส่วนใหญ่นักเรียนจะใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาว เราอาจปรับเปลี่ยนการแต่งตัวเป็นการใส่เสื้อโปโลหรือเสื้อพละ เพื่อลดความสุ่มเสียงในการเดินทางหรืออาจจะรณรงค์ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดธรรมดาก่อนกลับบ้าน  3.จัดบริการรถรับส่งนักเรียน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้รับการดูแลอย่างดี 4.จัดโครงการกีฬาแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียน เพื่อเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี 5.จัดโครงการแลกเปลี่ยนวิชาชีพ ระหว่างโรงเรียนหรือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อนำความรู้ไปบริการต่อสังคม

เรียนอาชีวะ สายช่างอุตสาหกรรมแล้วได้อะไร? ในการเรียนสายอาชีวะ สายอุตสาหกรรมนั้นเป็นสายที่ตรงกับสาขางานมากกว่าการจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งหากนักเรียนต้องการทำงานก็สามารถทำงานได้เลยซึ่งในปัจจุบันเงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 9,000 บาท เมื่อเรียนจบ ปวช.หากไม่ทำงานก็สามารถเรียนต่อได้  2 ประเภท คือ 1.เรียนต่อมหาวิทยาลัย เช่น หากจบสาขาช่างกลโรงงานสามารถเรียนต่อวิศวกรรม ศาสตร์ได้ 2.เรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งในประเทศไทยมีสถานศึกษาที่รองรับการเรียนในระดับ ปวส.ค่อนข้างมาก หากเรียนจบในระดับนี้สามารถทำงานได้เงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 12,000 บาทและหากเรียนต่อก็ยังมีหลักสูตรต่อเนื่อง 3 ปีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาในระดับปวช. ปวส. จึงมีความสำคัญมากในการศึกษาไทยเพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆในทวีปเอเซีย ส่งไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกเนื่องด้วยทรัพยากรและค่าแรงที่เหมาะสมดังนั้นหากเราทุกคนช่วยกันพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ ทัดเทียมนานาประเทศแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่านักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวะสายอุตสาหกรรมจะเป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

*****************************

บุคลิกภาพกับการทำงาน

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าบุคลิกภาพมีความสำคัญต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร ซึ่งเรื่องบุคลิกภาพนั้นมีความสำคัญต่อหน้าที่การงานไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดูดีได้ คือ บุคลิกภาพ บุคลิกภาพอย่างไรที่ถือว่าดี อย่างไรที่ถือว่าเหมาะสม หลายคนมีคำถามว่าจะเอาสิ่งใดมาเป็นตัววัด
ไม่ว่าจะทำอาชีพใดๆ บุคลิกภาพมีความสำคัญมากที่สุด ในชีวิตวัยทำงานของมนุษย์แต่ละคนนั้น ซึ่งการพัฒนาบุคลิกมีคร่าวๆ  คือ                                                                       1. การสมัครงาน บุคลิกภาพกับการสมัครงานนั้นมีผลต่อการทำงานมาก นอกจากความรู้ ความสามารถ เราจะทำอย่างไร เรามีความมั่นใจ การที่เราจะไปสมัครงานเราควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องราวของบริษัทที่เราจะไปสมัครงาน การแต่งตัวควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด รู้กาลเทศะและสิ่งที่เป็นสากลที่สุด คือ การใส่สูท ใส่รองเท้าหุ้มส้น ในกรณีของผู้หญิงควรรวบผมให้ตึกเก็บผมให้เรียบร้อยและใส่กระโปรง ส่วนในการตอบคำถามนั้นควรตอบให้มั่นใจและใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง                       2.เจอเพื่อนร่วมงานวันแรก หลายคนมักมีความกลัวว่า เมื่อไปทำงานวันแรก จะต้องทำอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การแนะนำตัวต่อเพื่อนร่วมงาน ในการแนะนำตัวไม่ว่าจะนั่งหรือยืนนั้น บุคลิกต้องดี มีรอยยิ้มที่มั่นใจ ยืนให้สง่า อย่าแสดงถึงความกลัวหรือไม่กล้า                                                                                                            3.การขอคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน หากเราต้องการขอคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน อาจจะใช้คำว่า “ขอความอนุเคราะห์” “ ขอคำแนะนำ”เป็นต้น เพื่อให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใหญ่มีความเอ็นดูและเมตตา                                                                                                                                                                                                             4.การผิดพลาด ทุกคนเมื่อไปทำงานวันแรกๆ อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลหรือรายละเอียดต่างๆในบางเรื่อง เมื่อทำผิดพลาด เราอาจจะกล่าวคำว่า “ขอประทานโทษ” “ขอโทษ”                                                                                                                                                                                                                                                     5.การประชุม ในการประชุมแต่ละครั้งหากเราต้องการนำเสนอข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็น ให้ยกมือขึ้นแล้วขออนุญาต ในการทำงานมีรายละเอียดย่อยมากมาย ซึ่งทุกคนไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพได้ใน 1-2 วัน แต่ต้องอาศัยการพัฒนาและสร้างเสริมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ

ความรู้ที่ข้าพเจ้าได้เขียนในบทความขั้นต้นมีที่มาจากการสังเกตและการดูวิดีโอ โทรทัศน์ สังเกตจากในละครหรือรายการต่างที่มีพิธีกรสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน การใช้คำพูด การเข้าสังคมต่างๆ และอ่านจากหนังสือคอลัมน์สัมภาษณ์ของบุคคลที่เป็นแนวหน้าในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในตนเองและผู้อื่นได้ ในการแนะนำเรื่องบุคลิกภาพ หากเราทำให้คนอื่นเห็นและประทับใจ ก็จะเป็นการแนะนำผู้อื่นทางอ้อมได้เช่นกัน

************************************

การบริหารโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จโดยมีองค์ประกอบ 5 ด้าน

มนุษย์ มีชื่อวิทยาศาสตร์: Homo sapiens ซึ่งภาษาละตินแปลว่า “คนฉลาด” หรือ “ผู้รู้”เป็นสปีชีส์เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในสกุล Homo ในทางกายวิภาค มนุษย์สมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริการาว 200,000 ปีที่แล้ว และบรรลุความนำสมัยทางพฤติกรรม (behavioral modernity) อย่างสมบูรณ์เมื่อราว 50,000 ปีที่แล้วแต่สิ่งพิเศษที่ทำให้มนุษย์บรรลุความนำสมัยนั้นก็คือ ลักษณะพิเศษที่ต่างจากสัตว์ คือ มีสมองใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว โดยเฉพาะสมองชั้นนอก สมองส่วนหน้าและสมองกลีบขมับที่พัฒนาเป็นอย่างดี ทำให้มนุษย์สามารถให้เหตุผลเชิงนามธรรม ใช้ภาษา พินิจภายใน (introspection) แก้ปัญหาและสร้างสรรค์วัฒนธรรมผ่านการเรียนรู้ทางสังคม ขีดความสามารถทางจิตใจของมนุษย์นี้ ประกอบกับการปรับตัวมาเคลื่อนไหวสองเท้าซึ่งทำให้มือว่างจัดการจับวัตถุได้ ทำให้มนุษย์สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือได้ดีกว่าสปีชีส์อื่นใดบนโลกมาก แต่การที่มนุษย์จะผ่านเรื่องราวต่างๆ มีการถ่ายทอดทั้งประสบการณ์ ความรู้และแนวคิดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถปฎิบัติได้แต่เพราะมนุษย์มีเอกลักษณ์ความถนัดในระบบการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ เช่น ภาษา เพื่อการแสดงออก แลกเปลี่ยนความคิด และการจัดระเบียบ มนุษย์สร้างโครงสร้างทางสังคมอันซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มจำนวนมากที่มีทั้งร่วมมือและแข่งขันกัน จากครอบครัวและวงศาคณาญาติ ไปจนถึงรัฐ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ได้ก่อตั้งค่านิยม บรรทัดฐานทางสังคมและพิธีกรรม ซึ่งรวมกันเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามนุษย์ที่ถือกำเนิดขี้นมานั้น ไม่ได้มีความรู้มาตั้งแต่กำเนิดและไม่สามารถอยู่ผู้เดียวได้ แต่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความรู้ไปในแบบแผนเดียวกันในสังคม
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยในแต่ละช่วง แต่จะทำอย่างไรให้คนในสังคมมีความรู้ ความสามารถและประกอบสัมมาอาชีพที่ตนเองถนัดนั้น ต้องมีการเรียนรู้ที่เป็นแบบแผนภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ทำให้คนในสังคมบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ หากเรามองย้อยไปอดีตการศึกษาของประเทศไทยนั้นมีแหล่งกำเนิดการศึกษา ซึ่งมาจากราชสำนักหรือวังกับวัด ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยใหม่ รัฐได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา จนสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนได้จนถึงปัจจุบัน ในการเล่าเรียนศึกษาในยุคปัจจุบันนี้ โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้เรียน แต่การที่จะทำอย่างไรให้โรงเรียนนั้นมีความอบอุ่นเหมือนบ้านหลังที่สองและประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการความรู้นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือหลายด้านเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะพิจารณาองค์ประกอบที่ช่วยให้การบริหารมีความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญที่มีแรงผลักดัน คือ ความเข้าใจในเรื่องของการบริหาร

ความหมายของการบริหาร
คำว่า การบริหาร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Adminstration” มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. Mary Packer Follet ได้ให้ความหมายของการบริหารไว้ว่า “ ศิลปะของการทำงานให้สำเร็จโดย
ใช้บุคคลอื่น ”
2. ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ กาญจนประกร กล่าวว่า “ การบริหารหมายถึง การทำงานของคณะบุคคล(Group) ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ฉะนั้น คำว่าการบริหารงานนี้จึงใช้กำกับแสดงให้เห็นลักษณะการบริหารงานแต่ละประเภทได้เสมอแล้วแต่กรณีไป แต่ถ้าเป็นการทำงานโดยบุคคลคนเดียว เราเรียกว่า การทำงานเฉยๆ เท่านั้น ”
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพงศ์ เกษมสิน ให้ความหมายว่า “ การบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลปะนำเอาทรัพยากรการบริหาร (Administrative resource) มาประกอบการตามกระบวนการตามกระบวนการบริหาร (Process of administration) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ”
4. ศาสตราจารย์ Peter F. Drucker ได้ให้หมายความเชิงพฤติกรรมว่า “ การบริหาร คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น ”
จากความหมายของการบริหารที่ผู้เขียนนำมากล่าวในที่นี้ถึง 4 ท่านนั้น จะพบว่า แต่ละความหมายจะกล่าวถึงคำหรือข้อความที่เหมือนๆ กัน คล้ายๆ กัน คือ
1) การทำงาน หรือการดำเนินงานหรือกิจกรรม
2) บุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป หรือทรัพยากรการบริหาร ซึ่งมีคน เงิน วัสดุอุปกรณ์
3) เป็นการทำงานให้สำเร็จ หรือให้บรรลุเป้าหมาย หรือให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือให้ดำเนินการไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การบริหาร คือ การดำเนินงานของคณะบุคคลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ หรือ การบริหาร คือ การทำงานของบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ความหมายของการบริหารการศึกษาและการบริหารโรงเรียน
การบริหารการศึกษา (Educational Administration) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้
1. ดร.ภิญโญ สาธร ได้ให้ความหมายของการบริหารการศึกษาไว้ว่า “ การบริหารการศึกษา คือกิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมมือกันดำเนินการเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน ประชาชน หรือสมาชิกของสังคมในทุกๆ ด้าน เช่น ความสามารถ ทัศนคติ พฤติกรรม ค่านิยม หรือคุณธรรม ทั้งในด้านการสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกที่ดีและมีประสิทธิภาพของสังคม โดยกระบวนการต่างๆทั้งที่เป็นระเบียบแบบแผน และไม่เป็นระเบียบแบบแผน”
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ ได้ให้ความหมายของการบริหารการศึกษาไว้ว่า “ การบริหารการศึกษาหมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมมือกันดำเนินการเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุกๆด้านนับตั้งแต่บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ พฤติกรรมและคุณธรรม เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันข้ามกับความต้องการของสังคม โดยกระบวนการต่างๆที่อาศัยการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีต่อบุคคล เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่ ”
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบูรณ์ พรรณนาภพ ได้ให้ความหมายของการบริหารการศึกษาไว้ว่า “ การบริหารการศึกษา คือการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มบุคคล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่างๆอย่างเต็มที่ และเหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างเอกัตบุคคล เพื่อให้เขาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ”
จะเห็นได้ว่าความหมายของการบริหารการศึกษาทั้ง 3 ความหมายนี้ ได้กล่าวถึงคำหรือข้อความที่คล้ายๆกันคือ
1) การดำเนินการของกลุ่มบุคคล
2) เพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ
3) เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
ดังนั้น การบริหารการศึกษา ก็คือ การดำเนินการของกลุ่มบุคคลเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่างๆเพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
ส่วนความหมายของการบริหารโรงเรียน มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร วรุตบางกูร ได้ให้ความหมายของการบริหารโรงเรียนไว้ว่า “ การบริหารโรงเรียน หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่เยาวชนและผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรม และคุณธรรมต่างๆ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและประเทศชาติ ”
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบูรณ์ พรรณนาภพ ได้ให้ความหมายของการบริหารโรงเรียนไว้ว่า “ การบริหารโรงเรียน คือ การดำเนินงานของกลุ่มบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงเรียน ได้แก่ การบริหารทางการศึกษาแก่สมาชิกของสังคม ให้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ”
3. ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ ได้ให้ความหมายของการบริหารโรงเรียนไว้ว่า “ การบริหารโรงเรียน หมายถึง กระบวนการต่างๆ ในการดำเนินงานของกลุ่มบุคคล ซึ่งเราเรียกว่า ผู้บริหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่สมาชิกในสังคม การดำเนินงานต่างๆจะต้องเป็นไปตามระบบที่สังคมกำหนดไว้ ”
จะเห็นได้ว่า ความหมายของการบริหารโรงเรียนทั้ง 3 ความหมายนี้ ได้กล่าวถึงคำหรือข้อความที่คล้ายๆกันดังนี้
1) การดำเนินงานของกลุ่มบุคคล
2) เพื่อบริการทางการศึกษาแก่สมาชิกในสังคม
3) เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
ดังนั้น การบริหารโรงเรียน ก็คือ การดำเนินงานของกลุ่มบุคคลเพื่อบริการทางการศึกษาแก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบความหมายของการบริหารการศึกษากับการบริหารโรงเรียน แล้วจะเห็นได้ว่าก็คล้ายกันนั่นเอง แต่การบริหารการศึกษาจะครอบคลุมกว้างกว่าการบริหารโรงเรียน คือถ้ากล่าวถึงผู้บริหารการศึกษาจะหมายถึงหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ ผู้อำนวยการประถมศึกษา จังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขตการศึกษา หัวหน้ากอง ผู้อำนวยการกอง อธิบดีและเลขาธิการสำนักงาน เป็นต้น ส่วนผู้บริหารโรงเรียนจะหมายถึง ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หัวหน้าสายวิชาและหัวหน้าหมวดวิชา เป็นต้น ถ้าหากเป็นวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย อาจจะเรียกว่า ผู้บริหารวิทยาลัย หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็น่าจะถูกต้องว่า ซึ่งคงหมายถึงอธิการ อธิการบดี คณบดีและหัวหน้าภาควิชา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การบริหารการศึกษากับการบริหารโรงเรียน ก็เป็นการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลเพื่อพัฒนาหรือบริการทางการศึกษาแก่สมาชิกในสังคมเหมือนกัน และเพื่อให้มีความเจริญงอกงามจะได้เป็นสมาชิกที่ดีในสังคมเหมือนกันอีกนั่นเอง

ปัจจัยในการบริหารโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจัยในการบริหารโรงเรียนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงศึกษาแต่เพียงผู้เดียว ทุกฝ่ายมีความสำคัญที่ช่วยให้โรงเรียนประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 5 ด้าน คือ
ปัจจัยด้านที่ 1 ผู้บริหาร (Director)
ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆจะต้องมีผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการเป็นต้น อันที่จริงแล้วผู้บริหารเหล่านี้ คือ “ผู้นำ” หรือ “หัวหน้า” ของแต่ละสถานศึกษา
ผู้บริหาร หรือ ผู้นำ หรือ ผู้จัดองค์การ หรือ หัวหน้างาน ไม่ว่าหน่วยงานเล็กหรือหน่วยงานใหญ่หน่วยงานราชการ หรือ เอกชนก็ตาม ย่อมมีบทบาท ที่เป็นผลต่อความสำเร็จหรือประสิทธิภาพ ของงานเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งการจัดองค์การแม้จะไม่เรียบร้อยถูกต้องอยู่บ้างก็อาจได้รับผลงานสูงได้หากผู้บริหารมีคุณลักษณะที่ดีแต่ถ้าคุณลักษณะหรือพฤติกรรมในการนำของผู้บริหารไม่ดี แม้การจัดองค์การถูกต้อง หรือ ดีเพียงใดก็ตาม ผลงานที่เกิดขึ้นของหน่วยงานนั้นๆ ย่อมสมบูรณ์ได้ยาก ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม มีพฤติกรรม ในการนำที่ถูกต้อง เหมาะสม เพราะความสำเร็จของงานทุกด้านขององค์การ ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร หรือผู้นำ ซึ่งจะวินิจฉัยสั่งการ หรือตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ของผู้บริหารหรือผู้นำนั้น ควรที่จะประกอบด้วยเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพ คุณลักษณะด้านความเป็นผู้นำ คุณลักษณะด้านความรู้ทางวิชาการและคุณลักษณะด้านความสามารถในการบริหาร
ผู้บริหาร หมายถึง ผู้ ที่มีศิลปะในการบริหารคนบริหารงานให้ ประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย ที่วางไว้ ผู้บริหารแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และ ผู้บริหารระดับสูง ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับต้น (First-Line Managers) หมายถึง ผู้บริหารที่อยู่ระหว่างพนักงานระดับปฏิบัติ
การกับผู้บริหารระดับอื่นๆ โดยอาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะขององค์กร เช่น หัวหน้างาน (Supervisor) หัวหน้าแผนก (Section Head) หรือ ผู้จัดการ เป็นต้น
2. ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Managers) หมายถึง บุคคลที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้บริหาร ระดับสูงและผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นำวิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์ของผู้บริหารระดับสูงมาผลักดันให้เกิดผล ในทางปฏิบัติ ช่วยผลักดันองค์กรให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้บริหารระดับกลาง เช่น ผู้อำนวยการ เป็นต้น
3. ผู้บริหารระดับสูง (Top Managers) หมายถึง ผู้ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในระดับสูงสุดขององค์กร มี อำนาจหน้าที่ในการกำหนดเป้าหมายขององค์กร ในรูปของ วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และนโยบาย เพื่อเป็นกรอบ และแนวทางในการดำเนินงานขององค์การ เป็นผู้ตัดสินใจ นำองค์กรเพื่อความอยู่รอด ผู้ บริหารระดับสูง จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประชุมหรือสื่อสารกับพนักงานระดับสำคัญ ๆ ของ องค์กร เป็นตัวแทนองค์กรในงานสาธารณะต่าง ๆ เป็นตำแหน่งที่มีความกดดันในงานสูง มีเวลาพักผ่อนน้อยและเวลา ส่วนตัวน้อย มีความสามารถในการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ มีทักษะในการแก้ไขปัญหาและวิกฤติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ หมายถึง ผู้บริหารที่มุ่งส่งเสริมพัฒนา บริหารจัดการและดำเนินการให้ผู้เรียนทุกคนได้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มุ่งมั่นในการที่จะจัดการการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ โดยให้เกิดผลในทุกมิติกับผู้เรียน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ของชุมชนเป็นชุมชนที่สามารถ พึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่ความเป็นสถานศึกษาสมบูรณ์ คือ สถานศึกษาที่มีความร่มรื่น มีสภาพน่าดู น่าอยู่และน่าเรียน โดยมีกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการที่เชื่อมโยงสอดคล้อง กับสภาพความเป็นจริง อย่างมีคุณภาพ ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณภาพในลักษณะ เก่งดีและมีความสุข ทำให้ครูมีคุณภาพในลักษณะ เก่ง ดี มี ความสุข และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ นำไปสู่โรงเรียนและชุมชนมีคุณภาพ มีคำกล่าวว่า “กว่าจะเป็นผู้บริหารนั้นยากยิ่ง แต่การจะเป็นนักบริหารมืออาชีพยากยิ่งกว่า”และ“ไม่มีองค์การแย่แต่ผู้บริหารเยี่ยม และ ไม่มีผู้บริหารเยี่ยมแต่องค์กรแย่”

ปัจจัยด้านที่ 2 งบประมาณ (Budjet)
การงบประมาณเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารงานทุกชนิด ทุกหน่วยงานและทุกองค์กรไม่ว่า
จะเป็นฝ่ายรัฐหรือเอกชน องค์กรการกุศลหรือฝ่ายธุรกิจ ทุกหน่วยงานและทุกองค์การจะต้องจัดทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่จะเพิ่มหรือลดในอนาคตด้วย เพื่อสามารถวางแผนแก้ปัญหาได้ทันการณ์และไม่เป็นเหตุให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงักงบประมาณเป็นสิ่งชี้บ่งแนวความคิดในการบริหารงานตลอดจนวิธีการดำเนินงานงบประมาณ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์นโยบาย วิธีดำเนินงานและโครงสร้างของหน่วยงาน การดำเนินการกับงบประมาณในรูปแบบที่เหมาะสม มีความจำเป็นในการช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานองค์การให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา หมายถึง วงเงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา การจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทรวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งสำนักงบประมาณ ได้จำแนกไว้เป็น 5 ระดับต่อประเภทการศึกษาได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา การศึกษาไม่กำหนดระดับ การบริการสนับสนุนการศึกษา และการศึกษาอื่น
หน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องใช้เงินในการดำเนินงาน
และพัฒนาตนเอง ผู้บริหารโรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารการเงินของโรงเรียนเป็น
อย่างดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการจัดสรรเงินเพื่อการศึกษา แนวปฏิบัติในการบริหารการเงินในโรงเรียนซึ่งประกอบด้วย งานการรับเงิน, การจ่ายเงิน, การเก็บรักษาเงิน, การเนาส่ง, การซื้อ, การจ้าง, บัญชีพัสดุ, การ
ตรวจสอบและรายงานการเงิน เป็นต้น

ปัจจัยด้านที่ 3 ครู (Teacher)
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 “ครู” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทําหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ครูนับว่าเป็นบุคคลากรที่มีความสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ ซึ่งคุณสมบัติของครูดี ประกอบด้วย
1. มีความรู้จริงในสาขาที่ตนสอน
2. สามารถทำได้จริงตามที่ได้ศึกษามาและรักษาสุขภาพของตนเองได้เป็นอย่างดีจริง
3. มีนิสัยดีจริง มีความประพฤติน่าเคารพ น่าเทิดทูน สามารถปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้ตนเองได้จริง เป็นกัลยาณมิตรให้ตนเองได้จริง
4. ครูสั่งสอนได้จริง สามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้ลูกศิษย์รู้จริง ทำเองได้จริง มีความประพฤติดีเยี่ยมจริง สามารถอบรมสั่งสอนศิษย์ให้ประกอบอาชีพตั้งหลักฐานได้จริง ปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้ตนเองตามครูได้จริง นั่นคือครูสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้ตนเองและศิษย์ได้จริง ครูที่จะเป็นครูที่ดีได้อย่างแท้จริงนั้น ก็ต้องได้รับการฝึกอบรมมาก่อนจากครูที่สมบูรณ์พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์เช่นกันนั่นคือ ต้องฝึกตนเองตามหลักวุฒิธรรม 4 ได้แก่ 1.ต้องการหาครูดีให้พบ 2.ต้องฟังคำครูให้ชัด 3.ต้องตรองคำครูให้ลึก 4.ต้องปฏิบัติตามคำสอนของครูให้ครบ จะเห็นได้ว่า ครูนั้นมีบทบาทสำคัญต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
ปัจจัยด้านที่ 4 นักเรียน (Teacher)
นักเรียน หรือ ผู้เรียนนั้นถือได้ว่าเป็นเหมือนกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความทัดเทียมนานาประเทศ ในการศึกษานั้นผู้เรียนจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ใน
การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรม
5 . ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่างๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร
การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม
หากผู้เรียนปฏิบัติตนเองให้มีความรู้ความสามารถทั้ง 5 ด้านได้แล้วสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
ปัจจัยด้านที่ 5 ผู้ปกครอง (Parent)
ผู้ที่มีบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาคนอันดับแรก คือ พ่อแม่ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุตรธิดา เพราะพ่อแม่คือผู้ให้กำเนิดบุตรธิดา โดยดูแลตั้งแต่บุตรธิดาอยู่ในครรภ์จนถึงวันกำหนดคลอด เมื่อคลอดบุตรธิดาออกมาแล้ว พ่อแม่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเลี้ยงดูทารกนั้น ให้เติบโตเข้าสู่วัยเด็กที่มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ วัยเด็ก เป็นวัยที่บุตรธิดามีอายุระหว่าง 1 – 14 ปี และเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง ลงมือทำลองถูก ลองผิด และพร้อมที่จะเรียนรู้รวมทั้งรับรู้สิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต มีความสนใจในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากมาย มีความสามารถในการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนั้นในการเลี้ยงดู พ่อแม่จะต้องให้ความรักและความอบอุ่น
นอกจากนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องให้กับบุตร ธิดานั้นก็คือ ความรู้ โดยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้บุตร ธิดา มีความสามารถนำไปประกอบสัมมาอาชีพได้

จากปัจจัยทั้ง 5 ด้านที่ได้กล่าวไปนั้น ทุกปัจจัยมีความสำคัญในการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ หากขาดสิ่งใดไปจะทำให้บริหารไม่สมบูรณ์ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อให้โรงเรียนในประเทศไทยมีความสมบูรณ์ สามารถผลิตผู้เรียนให้มีศักยภาพที่ทัดเทียมนานาประเทศได้